การประชุมหารือแก้ไขปัญหานมโรงเรียน
23 พฤศจิกายน 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมหารือแก้ไขปัญหานมโรงเรียน โดยมี นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพจน์ภิรัชต์ เนียมจุ้ย คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมหารือแก้ไขปัญหานมโรงเรียน โดยมี นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพจน์ภิรัชต์ เนียมจุ้ย คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสุรักษ์ นามตะ ประธานชุมนุมสหกรณ์นมไทย - เดนมาร์ค จำกัด ผู้แทนชุมชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และตะวันตก จำกัด ผู้แทนสหกรณ์สมาชิกชุมนุมสหกรณ์ฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือ ณ ห้องประชุม 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทยได้ดื่มนมมากขึ้นและเป็นนมโคสดแท้ไม่ผสมนมผง เป็นการเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันเข้มแข็ง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง อีกทั้งช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีช่องทางในการจำหน่ายน้ำนมดิบที่แน่นอน โดยที่ประชุมได้นำเสนอถึงเป้าหมายของการดำเนินโครงการนี้เพื่อให้สิทธิ์โควตาผลิตนมโรงเรียนกับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนม ซึ่งเป็นผู้รวบรวมน้ำนมดิบ ตามสัดส่วนที่พึงได้ก่อน เพื่อนำน้ำนมดิบมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลิตเป็นนมโรงเรียนที่มีคุณภาพให้นักเรียนได้ดื่ม ตามแนวทางในการดำเนินโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนม มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจโคนม และสามารถพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ให้มีความมั่นคง เข้มแข็ง และเฉลี่ยรายได้ผลกำไรจากการดำเนินงานกลับคืนเกษตรกรสมาชิกในรูปแบบเงินปันผลและเฉลี่ยคืน ซึ่งเป็นแนวทางที่ควรทำและทำได้ทันทีเพื่อให้ผลประโยชน์เกิดขึ้นกับเกษตรกรเจ้าของน้ำนมดิบอย่างแท้จริง ซึ่งในที่ประชุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความเชื่อมั่นต่อสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมว่า รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือและไม่ทอดทิ้ง แต่ขอให้มีการนำเสนอข้อมูลมาตามขั้นตอนและควรมีการดำเนินการให้ทันก่อนที่จะถึงปีการศึกษา 1/2565
“ในเงื่อนไขการจัดสรรโควตานมโรงเรียน ได้มีการกำหนดเงื่อนไขรับซื้อนมโรงเรียนจากผู้ประกอบการโรงนมขนาดเล็ก (5 ตัน) ว่าโรงนมที่ซื้อจากเกษตรกรจริงหรือไม่ หรือบางรายมาจากการสนับสนุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ และไม่ได้มีการซื้อนมจริง ซึ่งทั้งหมดอยากให้ช่วยกันตรวจสอบเพราะในเรื่องนมโรงเรียนที่เกิดขึ้นนั้น รัฐบาลมุ่งหวังให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ ไม่อยากให้มีใครมาเอาเปรียบเด็ก ตนพูดในฐานะคนเป็นแม่ที่เชื่อมั่นว่านมโรงเรียนต้องดีที่สุด แต่ขณะนี้เหมือนมีใครมาเอาเปรียบเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เรื่องที่สังคมต้องช่วยกัน และนายกรัฐมนตรีเองต้องการให้โครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเด็กนักเรียน ขณะเดียวกันเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมตัวจริงได้รับผลประโยชน์จากงบประมาณนมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้านบาทด้วย” รมช.มนัญญา กล่าว