ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจร สู้ภัยโควิด - 19 สู่กลุ่มสมาชิกสหกรณ์
15 พฤศจิกายน 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจร
สู้ภัยโควิด - 19 สู่กลุ่มสมาชิกสหกรณ์ และร่วมปลูกฟ้าทะลายโจรในแปลงปลูกฟ้าทะลายโจร พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจร สู้ภัยโควิด - 19 สู่กลุ่มสมาชิกสหกรณ์ และร่วมปลูกฟ้าทะลายโจรในแปลงปลูกฟ้าทะลายโจร พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายถาพร ณ นคร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน เกษตรกรในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบพันธุ์ต้นฟ้าทะลายโจรให้กับผู้แทนสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 5 สหกรณ์ โดยทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ได้สนับสนุนต้นพันธุ์ฟ้าทะลายโจร จำนวน 35,700 ต้น เพื่อจัดสรรให้กับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรบางเจริญโมเดล จำกัด จำนวน 50 ราย ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมกล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายขับเคลื่อนการปลูกพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตยาฟ้าทะลายโจรเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ดังนั้นพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจรจึงเป็นทางเลือก ในการบำบัด ควบคุมและรักษาโรคไวรัสโควิด-19 ได้ดีอีกทางเลือกหนึ่ง ปัจจุบันฟ้าทะลายโจรเรียกได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ อีกทั้งยังมีการขยายการส่งเสริมและเพิ่มพื้นที่ปลูกให้กับเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันเกษตรอื่นที่มีการแปรรูปสมุนไพร ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและฟื้นฟูสมุนไพรไทยด้วย เน้นย้ำให้สหกรณ์สร้างช่องทางการตลาดของตนเอง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่เหมาะกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ซึ่งเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้อยู่แล้ว เมื่อเข้ามาร่วมโครงการก็สามารถนำองค์ความรู้ที่ตนเองมีมาใช้ในการเกษตรได้ ทั้งการบริหารจัดการ การวางแผนการผลิต และการตลาด เมื่อได้ผลผลิตก็สามารถนำมาต่อยอดแปรรูปเพิ่มมูลค่า ตลอดจนนำผลผลิตหรือสินค้าของตนเองไปจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ได้อีกด้วย
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการการผลิตชีวภัณฑ์ นิทรรศการแสดงผลงานทางวิชาการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนิทรรศการและการจัดแสดงและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าแปรรูป ของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกลับบ้าน สานต่ออาชีพเกษตรกร อาทิ ผักสด ผลไม้สด สินค้าเกษตรแปรรูป ทุเรียนเทศแช่อิ่ม น้ำพริก เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น รวมทั้งพบปะผู้แทนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 4 ราย ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ มีผู้สมัคร เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 32 ราย มีสหกรณ์สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 11 แห่ง โดยนางสาวเจนจิรา ลูกน้อย อายุ 28 ปี หนึ่งในผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันได้นำมะพร้าวน้ำหอมที่มีอยู่ในสวนของครอบครัวมาเพิ่มมูลค่าโดยการทำเป็นมะพร้าวแกะกะลา น้ำมะพร้าวปั่นนมสด วุ้นมะพร้าว และกระทงเทียนหอมกะลามะพร้าวภายใต้แบรนด์ "น้ำหอมสวนเกษตร" อีกทั้ง ยังมีการปลูกพืชแซมในสวนมะพร้าว และเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ไก่ อีกด้วย
ต่อมา ได้เยี่ยมชมสินค้าจากโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ จากสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. กระบี่ จำกัด ซึ่งมีทั้ง ผัก ผลไม้ ข้าวสาร กาแฟ สินค้าประมงแปรรูป โดยซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ถือเป็นจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพเพื่อการบริโภคจากขบวนการสหกรณ์สู่สมาชิกและผู้บริโภค มีการส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ ซึ่งสินค้าที่นำมาจัดจำหน่ายเป็นสินค้าจากสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือเกษตรกรสมาชิก ที่มีความสด สะอาด และปลอดภัย