รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำคลองหลา ตามพระราชดำริ
16 ตุลาคม 2564 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำคลองหลา ตามพระราชดำริ โดยมี นายปรีชา พันธุ์วา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ อ่างเก็บน้ำคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำคลองหลา ตามพระราชดำริ โดยมี นายปรีชา พันธุ์วา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ อ่างเก็บน้ำคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา โดยอ่างเก็บน้ำดังกล่าวมีพื้นที่โครงการ 18,000 ไร่ มีความจุเก็บกัก 21.42 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ มีระบบส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองหลา ตามพระราชดำริ ทำให้สามารถจัดส่งน้ำให้แก่พื้นที่ราษฎร จำนวน 10,428 ครัวเรือน ประชากร 27,146 คน อีกทั้งยังสามารถส่งน้ำสนับสนุนกิจกรรมงานวิจัยเพื่อประชาชนของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โครงการฟาร์มตัวอย่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสงขลา, ศูนย์วิจัยสัตว์กีบเล็กมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และศูนย์วิจัยประมงน้ำจืด จังหวัดสงขลา และสามารถจัดหาน้ำสนับสนุนกิจการเพื่อความมั่นคง เช่น เรือนที่ประทับคลองหอยโข่ง กองบิน 56 และกองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้จัดเตรียมพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวนทั้งสิ้น 200,000 ตัว ได้แก่ ปลาตะเพียนขาวจำนวน 150,000 ตัว ปลาตะเพียนทอง 15,000 ตัว ปลากระแห 15,000 ตัว ปลาสุลต่าน 15,000 ตัว และพันธุ์ปลากดเหลือง 5,000 ตัว เพื่อปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำคลองหลา เป็นการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ อีกทั้งยังแจกจุลินทรีย์ ปม.1 จำนวน 1,000 ซอง และพ่อแม่พันธุ์ปลาสวยงามให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ จำนวน 1,000 ตัว
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำแซง ณ ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งกรมชลประทานจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ขนาดทำนบดิน กว้าง 8.00 เมตร ยาว 1,050 เมตร สูง 53.00 เมตร พร้อมอาคารระบายน้ำล้น และอาคารประกอบ โดยมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 10.39 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ประมาณ 9,600 ไร่ ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เกษตรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) จำนวน 8 รายด้วย