ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดกิจกรรม “เกษตรปลอดภัย ใส่ใจเกษตรกร สู้ภัยโรคลัมปีสกิน”
26 มิถุนายน 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดกิจกรรม “เกษตรปลอดภัย ใส่ใจเกษตรกร สู้ภัยโรคลัมปีสกิน” พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายพจน์ภิรัชต์ เนียมจุ้ย รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และคณะผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดกิจกรรม “เกษตรปลอดภัย ใส่ใจเกษตรกร สู้ภัยโรคลัมปีสกิน” พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายพจน์ภิรัชต์ เนียมจุ้ย รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และคณะผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายธรรมนูญ แก้วคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นางดารณี แย้มศรีสุข สหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ธุรกิจสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.มหาสารคาม จำกัด ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พบปะสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ที่มารอต้อนรับ พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกินว่า ในปัจจุบันว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ด้วยโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ใน โค-กระบือ ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกำชับให้หน่วยงาที่เกี่ยวข้องติดตามแก้ไขปัญหาการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ซึ่งในจังหวัดมหาสารคาม ในพื้นที่ 13 อำเภอ มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ได้รับผลกระทบสัตว์ป่วยสะสม จำนวน 30,165 ตัว คิดเป็น 11.85% ของสัตว์ทั้งหมด ตายสะสม จำนวน 1,517 ตัว คิดเป็น 0.60% สัตว์ป่วยคงเหลือ 5,237 ตัว คิดเป็น 2.06% (ข้อมูล ณวันที่ 23 มิ.ย. 64)
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบยากำจัดแมลงพาหะนำโรค จำนวน 300 แกลลอน และมอบเสบียงอาหารสัตว์ (หญ้าแห้งแพงโกล่าอัดฟ่อน) จำนวน 200 ฟ่อน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปีสกินในโค-กระบือ และมอบเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง สายพันธุ์ขอนแก่น 6 และเวชภัณฑ์ ให้แก่ผู้แทนจากสถาบันเกษตรกร และมอบเครื่องตัดหญ้าสะพายหลัง จำนวน 70 เครื่อง ให้กับสหกรณ์การเกษตรเชียงยืน จำกัด และรถแทรคเตอร์พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วงให้กับสหกรณ์การเกษตรนาเชือก จำกัด ตามโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวมและแปรรูปของสถาบันเกษตรกรรองรับผลผลิตทางการเกษตร และมอบใบรับรองมาตรฐานปลอดภัยจากสารพิษ ให้กับสมาชิกสหกรณ์ในโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร
จากนั้น ร่วมปรุงเมนูผลิตภัณฑ์ใหม่ขนม “ตังเมนมสด (NU GUT Takkasira)” ผลิตภัณฑ์จากนมโค (แปลงใหญ่โคนม) ของสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด และพบปะผู้แทนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ซึ่งในจังหวัดมหาสารคามมีสหกรณ์สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 12 สหกรณ์ สมาชิก 39 ราย และมีสมาชิกได้รับใบรับรองมาตรฐานปลอดภัยจากสารพิษ จำนวน 3 ราย ซึ่งทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม ที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมชี้แจงโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน โครงการสร้างเครือข่ายลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพทางการเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรต่าง ๆ นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมบูธโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ซึ่งมีสหกรณ์ที่ร่วมโครงการฯ 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.มหาสารคาม จำกัด มีแผนกระจายสินค้าสหกรณ์ตามจุดกระจายต่างๆ ซึ่งเป็นจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรของสหกรณ์ที่มีคุณภาพเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าสหกรณ์ได้มากขึ้น และผลักดันให้สหกรณ์เป็นศูนย์รวบรวมและจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพแก่ประชาชนในราคาที่เป็นธรรม สดใหม่ สะอาด ปลอดสารเคมี อาทิ ไข่ไก่ ผักผลไม้สด หอมแดง กระเทียม ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เป็นต้น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหนองบัวแปะจำกัด มีการนำผลผลิต ผลิตภัณฑ์จากสมาชิกโครงการนำลูกหลานกลับบ้านมาจำหน่ายในตลาดเขียว (ตลาดคุณธรรม) ในสหกรณ์ภายใต้โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ และสหกรณ์การเกษตรบรบือ จำกัด นำผลผลิต ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกโครงการนำลูกหลานมาจำหน่ายในสหกรณ์ภายใต้โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ และข้าวสารสหกรณ์ตักสิลา ที่มีมาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิตอีกด้วย ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม มีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งส่งเสริมสินค้าให้มีใบรับรองมาตรฐานปลอดภัย มาตรฐานอาหารและยา เพิ่มช่องทางการตลาด และส่งเสริมอาชีพให้สมาชิกผลิตวัตถุดิบป้อนกลุ่มอาชีพผลิตสินค้าและแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป
{gallery}26june2564{/gallery}