ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
13 มิถุนายน 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด ตำบลทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายไพฑูรย์ ชนะชู สหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเกรียงศักดิ์ รักษ์สีทอง นายอำเภอพรหมคีรี นายธวัช เอี่ยมชลคำ ประธานที่ปรึกษาสหกรณ์ฯ หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกร จำนวน 40 ราย พร้อมมอบชุดชีวภัณฑ์ ได้แก่ ปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ ปุ๋ยหมักชีวภาพ และแหนแดง ให้แก่เกษตรกรเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกัน กำจัดศัตรูพืช ส่งเสริมการผลิตผลไม้คุณภาพ ผักคุณภาพ เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่เกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค จากนั้น ได้พบปะสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ที่มารอต้อนรับ ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา สนับสนุน และขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สู่พี่น้องเกษตรกร นำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันในการส่งเสริมการผลิต การแปรรูป และการตลาด รวมทั้งการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมสหกรณ์ กลุ่มเกษตรในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย
จากนั้น ได้เยี่ยมชมบูธจัดแสดงสินค้าทางการเกษตรของสหกรณ์กลุ่มเกษตรกร และพบปะเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพทางการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 6 ราย นำโดย นางสาวโศภิษฐ์ ท่องแก้ว เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำผลผลิตทางการเกษตรของตนเองมาร่วมจัดแสดงและจำหน่าย ได้แก่ น้ำส้มควันไม้ ถ่านไบโอชาบำรุงดินและพืช จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง นางสาวพวงเพ็ญ จันทร์งาม นำผลผลิตทางการเกษตร พริก ฝรั่งกิมจู ส้มโอทับทิมสยาม มาร่วมจัดแสดงและจำหน่าย นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ อาทิ น้ำนมแพะ ข้าวสังข์หยด ไข่เป็ด ผักปลอดภัย ผลิตภัณฑ์จากโกโก้ สละ และน้ำหมักอินทรีย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้สมัครยืนยันเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 62 ราย สหกรณ์สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 24 แห่ง ที่ผ่านมา สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการจัดประชุมโครงการสร้างเครือข่ายลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน ผู้เข้าร่วมโครงการฯ สถาบันเกษตรกร และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมมือขับเคลื่อนโครงการฯ ในปี 2564 กรมส่งสริมสหกรณ์ ได้คัดเลือกเกษตรกรตามโครงการจำนวน 12 ราย เพื่อจัดอบรมแนวทางการการประกอบอาชีพเกษตรสมัยใหม่ผ่านระบบ Zoom Meeting และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรลูกหลานที่เข้าร่วมโครงการฯ
จากนั้น ได้เยี่ยมชมซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด ที่ได้มีการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกผักสวนครัวมาวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ มีการสำรวจข้อมูลการผลิตผลผลิตของสมาชิกเพื่อจะได้บริหารจัดการจัดหาสินค้ามาจำหน่ายในรูปแบบ Supermarket สหกรณ์ภายใต้แนวคิด “ผู้ผลิตต้องดูแลผู้บริโภค” โดยการให้สมาชิกที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP นำสินค้ามาจำหน่ายในร้านซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ใช้หลักการตลาดนำการผลิตมาดำเนินการจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ปัจจุบันสหกรณ์ได้มีการรับสินค้ามาจำหน่ายจากสมาชิก และผู้เข้าร่วมโครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ มาจำหน่ายที่ร้าน เช่น ผลิตภัณฑ์นมแพะ น้ำเต้าหู้นมแพะ ผัก ผลไม้ เช่น สละ สละลอยแก้ว รวมถึงผัก ผลไม้ที่สมาชิก หรือชุมชนปลูกนำมาฝากขายที่ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ รวมทั้งได้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับสมาชิกสหกรณ์ต่าง ๆ ทั้งในจังหวัด และต่างจังหวัด เช่น ข้าวสารจากสหกรณ์การเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด มะม่วง สายพันธ์ “จีนหงส์” จากสหกรณ์การเกษตรบ้านโฮ่ง จำกัด จังหวัดลำพูน ไข่ไก่ จากกลุ่มเกษตรกรทำสวนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช รองเท้าบูทยางพารา จากสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด จังหวัดสงขลา รวมถึงนำสินค้าทั่วไปมาจำหน่ายให้กับสมาชิกและชุมชนด้วย
สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2521 ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 43 ปี ปัจจุบันทีสมาชิก 2,687 ครัวเรือน มีทุนการดำเนินงานมากกว่า 616 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจ 5ด้าน ได้แก่ การรับฝากเงิน การให้สินเชื่อ การแปรรูปผลผลิตการเกษตร (ผลิตยางแผ่นรมควัน) การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และการรวบรวมผลผลิต ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการแนะนำส่งเสริมกิจการงานของสหกรณ์ มาตั้งแต่ต้น และยังได้อุดหนุนงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็นในการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร โดยได้จัดงบประมาณเพื่อสร้างอาคารรวบรวมและคัดแยกผลผลิต จำนวน 2 หลัง พร้อมอุปกรณ์ ในปี 2559 และ ปี 2561 งบประมาณรวม 16 ล้านบาท ซึ่งอาคารรวบรวมและคัดแยกผลผลิตพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าว สหกรณ์ได้ใช้ประโยชน์เต็มประสิทธิภาพในการรวบรวมผลผลิตมังคุดในฤดูการผลิตที่ผ่านมา การรวบรวมผลผลิตของสหกรณ์ได้ช่วยระบายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของจังหวัดในภาวะราคาผลผลิตตกต่ำ รวมทั้งอาคารรวบรวมและคัดแยกผลผลิตแห่งนี้ ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP แล้วด้วย
{gallery}13june2564{/gallery}