ลงพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการดำเนินธุรกิจรวบรวมและเเปรรูปกาแฟ ของสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด
20 มีนาคม 2564 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการดำเนินธุรกิจรวบรวมและเเปรรูปกาแฟ ของสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด โดยมี นายสุริยะ คำปวง สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการดำเนินธุรกิจรวบรวมและเเปรรูปกาแฟ ของสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด โดยมี นายสุริยะ คำปวง สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ Mr.Okada Masahiro ผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) นายศรีนวล ไทยตัน ประธานกรรมการ นายประหยัด เสนน้อย ผู้จัดการสหกรณ์ บุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
โอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ได้เยี่ยมชมตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟของสหกรณ์ และรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของสหกรณ์ดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด พร้อมทั้งแนะนำแนวทางในการดำเนินธุรกิจ โดยให้สหกรณ์นำกาแฟที่รวบรวมจากสมาชิกมาพัฒนาให้มีคุณภาพ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างรสชาติที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถจำหน่ายออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ เชื่อมั่นว่าโอกาสทางการตลาดธุรกิจกาแฟยังมีลู่ทางที่สดใสในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังแนะนำให้มีนักวิชาการเกษตรที่มีความรู้มาประจำอยู่ที่สหกรณ์ เพื่อประสานหน่วยงานภาคีภาครัฐ ทำงานร่วมกับสมาชิกสหกรณ์พัฒนางานในพื้นที่ เพื่อให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ส่วนโครงการการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชน (กาแฟอาราบิก้า) ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ดำเนินงานโครงการความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น (Local to Local Linkage) โดยได้คัดเลือกสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและสหกรณ์ในการผลิตกาแฟคุณภาพดี พัฒนาการจัดการคุณภาพตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป การสร้างตราสินค้า ตลอดจนการทำตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสหกรณ์และพัฒนาตลาดอย่างยั่งยืน และได้ทำข้อตกลงร่วมกัน ทาง JICA จึงส่งผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาปฏิบัติงานร่วมกับสหกรณ์ ในปี 2562 เก็บฐานข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดกาแฟ มีเกษตรกรที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ 37 ราย และลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำด้านการผลิต การแปรรูปเบื้องต้น การเก็บเกี่ยว การควบคุมคุณภาพ โดยการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีกระบวนการผลิตกาแฟ เพื่อ พัฒนากาแฟของสมาชิกสหกรณ์ให้มีคุณภาพ กำหนดทีมตรวจสอบคุณภาพกาแฟ ความสุก บันทึกขั้นตอนการแปรรูป ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของกาแฟกะลา และตรวจสอบความสมบูรณ์ของเมล็ดและรสชาติกาแฟ
ปัจจุบันสหกรณ์ฯ กำหนดราคารับซื้อกาแฟกะลาของสมาชิกแบบขั้นบันได โดยใช้คุณภาพเป็นตัวกำหนดราคากาแฟกะลาที่รับซื้อ ในฤดูกาลผลิต 2562/63 สมาชิกทั่วไปและสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ สหกรณ์ฯ รับซื้อที่ราคา 110 บาท/กก. สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ และกาแฟกะลามีลักษณะทางกายภาพของกาแฟกะลาผ่าน (Defect น้อยกว่า 7%) จะเพิ่มราคาให้อีก 3 บาท (113 บาท/กก.) ส่วนที่ลักษณะทางกายภาพของกาแฟสาร (คะแนน Defect น้อยกว่า 10) และรสชาติ (คะแนนคัพปิ้ง ตามขั้นตอนการประเมิน Cup of Excellence สูงกว่า 80 คะแนน) จะเพิ่มราคาให้อีก 2 บาท (115 บาท/กก.) ต่อมาได้มีการพัฒนากาแฟ Single Origin และการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ สหกรณ์ฯได้เริ่มทดลองทำการตลาด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก เนื่องจากการทำ Single Origin ทำได้น้อยและยากสำหรับกาแฟทั่วไป สหกรณ์ได้จัดทำบรรจุภัณฑ์แยกเฉพาะรายคน แสดงรายละเอียดพื้นที่ความสูง และลักษณะเด่นของกาแฟของแต่ละคน รวมถึงการจัดทำ QR-Code ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่กำหนดจัดอบรมหลักสูตร : การพัฒนามาตรฐาน “ระบบตามสอบสินค้าเกษตร” QR Trace on Cloud ร่วมกับ มกอช. ในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ด้วย
ในปีการผลิต 2563/64 สหกรณ์ฯดำเนินการแปรรูปกาแฟเชอร์รี่เอง ซึ่งสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนเครื่องกะเทาะกาแฟเชอรี่ และเครื่องคั่วกาแฟจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และได้เริ่มทดลองรวบรวมกาแฟเชอร์รี่นำมาแปรรูปเองทั้งกระบวนการเพื่อพัฒนากระบวนการแปรรูปกาแฟของสหกรณ์ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งสหกรณ์ได้รับคำแนะนำจาก Mr.Kuramoshi ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ในการแปรรูปกาแฟฮันนี่ โดยผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้ให้คำแนะนำแก่สมาชิกสหกรณ์อย่างใกล้ชิด ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์กาแฟของสหกรณ์จะมีคุณภาพและมีรสชาติที่ดีเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค
นอกจากนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ยังได้ประสานงานกับกรมวิชาการเกษตร และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ทำการฝึกอบรมให้ความรู้แก่สหกรณ์ในการแปรรูปกาแฟ การพัฒนาการแปรรูปเบื้องต้นของสมาชิก รวมทั้งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่พัฒนาคุณภาพกาแฟ ทำให้สมาชิกสหกรณ์ได้รับการพัฒนาตลอดกระบวนการผลิตและการแปรรูปสามารถยกระดับการดำเนินธุรกิจกาแฟให้มีอัตลักษณ์เป็นกาแฟคุณภาพพิเศษของสหกรณ์
ในการนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มอบเงินอุดหนุนเพื่อจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์การตลาดให้กับสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนาจำกัด และสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ด จำกัด และมอบใบประกาศเกียรติคุณให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่ผลิตกาแฟคุณภาพ จำนวน 3 ราย จากนั้นได้เยี่ยมชมโรงคั่วกาแฟของสหกรณ์ฯ และชมกระบวนการกะเทาะเปลือกผลสดกาแฟเชอรี่ด้วยอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจกาแฟของสหกรณ์ และได้เยี่ยมชมร้านกาแฟของสหกรณ์ฯ อีกด้วย
ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2518 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 2,962 คน มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 215 ล้านกว่าบาท สหกรณ์ได้ดำเนินธุรกิจด้านสินเชื่อ การรับฝากเงิน จัดหาสินค้ามาจำหน่าย รวบรวมผลผลิต สหกรณ์รับซื้อกาแฟกะลา และกาแฟเชอรี่จากสมาชิก แปรรูปผลผลิต กาแฟสาร กาแฟคั่วเมล็ด และกาแฟคั่วบด ผลกำไรจะมีการจัดสรรปันผลเฉลี่ยคืนแก่สมาชิกเมื่อถึงสิ้นปี และมุ่งมั่นสร้างประโยชน์ให้สมาชิกได้อยู่ดีกินดีในที่สุด
{gallery}20mar2564{/gallery}