ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักบ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 5 อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์
11 กุมภาพันธ์ 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักบ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 5 อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายอำเภอบ้านด่าน หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกรในพื้นที่ ให้การต้อนรับ
ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวมอบนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการทำเกษตรปลอดภัย มอบปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยหมักเติมอากาศ และแหนแดงให้กับผู้แทนเกษตรกร พร้อมทั้งมอบประกาศนียบัตรแก่เกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรกรปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร เยี่ยมชมการสาธิตและใช้ไส้เดือนฝอยพันธุ์ไทย ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์ได้ส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยและแมลงหางหนีบให้แก่เกษตรกรนำไปเลี้ยงขยายเพื่อใช้ควบคุมป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชทำให้เกิดความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคโดยไม่ต้องใช้สารเคมี นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้แหนแดงและปุ๋ยหมักเติมอากาศทำให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้มากกว่า 75% ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ สามารถลดต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชผักจำหน่ายที่ตลาดในจังหวัดบุรีรัมย์ เดือนละ 15,000 - 20,000 บาทต่อครัวเรือน
ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักบ้านโนนสวรรค์ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 จากการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชผักเป็นอาชีพเสริมหลังว่างเว้นจากการทำนา โดยสมาชิก 36 คน ได้จัดแบ่งพื้นที่สาธารณประโยชน์คนละ 2 งาน ปลูกพืชผักหลายชนิดตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว รวมทั้งมุ่งหวังที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคม จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การปลูกผักปลอดภัย เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์ ได้ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เข้าสู่รับการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ตั้งแต่ปี 2558 จำนวน 36 แปลง พื้นที่ 18 ไร่ และดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปลูกผักปลอดภัยด้วยการใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยและแมลงหางหนีบ และการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้แหนแดงและปุ๋ยหมักเติมอากาศ ที่เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้อย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งคัดเลือกและให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่วิสาหกิจชุมชนฯ เพื่อเป็นจุดเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ (5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง) ในปี 2563 ด้วย
{gallery}11feb2564_1{/gallery}