พิธีเปิดโรงงานผลิตยางแท่ง STR 20 ของสหกรณ์การเกษตรเบญจลักษ์ จำกัด อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
22 กุมภาพันธ์ 2563 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโรงงานผลิตยางแท่ง STR 20 ของสหกรณ์การเกษตรเบญจลักษ์ จำกัด อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโรงงานผลิตยางแท่ง STR 20 ของสหกรณ์การเกษตรเบญจลักษ์ จำกัด อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และขบวนการสหกรณ์ในจังหวัดศรีสะเกษ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน 133 ทุน ในโครงการ “ CSR -BIKE ปั่นเพื่อน้อง” ของเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดศรีสะเกษ
ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรเบญจลักษ์ จำกัด มีความต้องการที่จะช่วยเหลือสมาชิก กลุ่มเครือข่ายสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไปที่ทำสวนยางพาราให้สามารถขายยางพาราได้ในราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรมจึงได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตยางแท่ง STR 20 เพื่อรักษาเสถียรภาพยางให้คงอยู่ สามารถเก็บยางไว้ในช่วงราคาตกต่ำ เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกและเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างยั่งยืน และเพื่อแสดงถึงพลังความสามัคคีของเครื่อข่ายสหกรณ์ สร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ เครือข่ายสหกรณ์ในการผลักดันราคายางพาราให้สูงขึ้น รวมทั้งเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง โดยมีสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร สถาบันเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดศรีสะเกษร่วมในพิธีเปิดกว่า 500 คน
สำหรับสหกรณ์การเกษตรเบญจลักษ์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2537 ปัจจุบันมีสมาชิก 1,965 คน สมาชิกปลูกยางพารา 453 ราย มีพื้นที่กรีด 5,248 ไร่ ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตยางแท่ง STR 20 ขนาด 3 ตันต่อชั่วโมง มาตั้งแต่ปี 2562 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 53,160,000 บาท โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนงบประมาณ 14,112,200 บาท และส่วนที่เหลือเป็นเงินทุนของสหกรณ์ ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการก่อสร้าง คือ การสร้างความเป็นธรรมในเสถียรภาพและราคาในช่วงที่ผลผลิตยางพาราราคาตกต่ำ รวมถึง สหกรณ์สามารถมีบทบาทที่สำคัญในการแปรรูป ยกระดับคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตยางพารา โดยในจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 253,937 ไร่ (ร้อยละ 9.88 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เนื้อที่เปิดกรีด 201,031 ไร่ เกษตรกร จำนวน 17,733 ครัวเรือน ผลผลิตประมาณ 50,000 ตันต่อปี ผลผลิตยางก้อนถ้วยประมาณ 95 % น้ำยางและยางแผ่น 5 % โดยสหกรณ์ดำเนินธุรกิจ 7 ด้าน ดังนี้ 1.ธุรกิจเงินรับฝาก 2.ธุรกิจผลิตปุ๋ยมาจำหน่ายเอง 3.ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ( ปุ๋ย, เมล็ดพันธุ์ ) 4.ธุรกิจรวบรวมผลผลิต สหกรณ์รับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก 5.ธุรกิจปั๊มน้ำมัน 6.ธุรกิจรวบรวมผลผลิต สหกรณ์รับซื้อยางพาราจากสมาชิก 7.ธุรกิจสินเชื่อ มี 2 ประเภท คือ เงินกู้ระยะสั้นและเงินกู้ระยะปานกลาง
{gallery}22feb2563{/gallery}