กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขยายเป้าคลุม 5 สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรด้วยการส่งเสริม “เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น” ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ผ่านแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่จะขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้เกิดการพัฒนาทั้งระบบ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการยกระดับรายได้ของเกษตรเป็น 3 เท่า ภายใน 4 ปี
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์มุ่งเน้นการพัฒนาและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ซึ่งครอบคลุมสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะพื้นที่ สินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย สินค้าศิลปาชีพสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ รวมถึงสินค้าสิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ (GI) พืชผลเกษตรและผลไม้เขตร้อน โดยการนำจุดเด่นของอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยมาใช้ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อผลักดันให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
“เรากำหนดแนวทางการพัฒนาและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นไว้ 3 ด้าน ได้แก่
1) ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี พัฒนากระบวนการผลิต และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้มีสินค้าออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ
2) ส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับความสามารถของเกษตรกรและชุมชนในการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น
3) สร้างอัตลักษณ์หรือนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดให้กับสินค้า รวมถึงสร้างความแตกต่างและความโดดเด่นของสินค้าในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจากการพัฒนาที่ผ่านมาพบว่าสินค้าเกษตร อัตลักษณ์พื้นถิ่นได้รับการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่บางแห่งยังขาด การเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตและเครือข่ายการตลาด
จึงมีความจำเป็นที่ต้องขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นพัฒนากลุ่มเป้าหมายเดิม เพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่ เพื่อต่อยอดและผลักดันให้สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนใช้ประโยชน์จากเอกลักษณ์แต่ละพื้นที่ในการเชื่อมโยงไปสู่ภาคการผลิตอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์ เป็นต้น” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
1) กลุ่มพัฒนาต่อยอด (สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมตั้งแต่ปี 2566 – 2567) จำนวน 57 แห่ง และ
2) กลุ่มผลักดันใหม่ (สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/กลุ่มอาชีพภายใต้สังกัดสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น/ภูมิปัญญาพื้นถิ่น /ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน) จำนวน 28 แห่ง ครอบคลุมกลุ่มสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ข้าว ผลไม้ ผ้าไหม/ผ้าทอ ปศุสัตว์ (โคเนื้อ) และผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อเชื่อมโยงด้านการตลาดกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น อันจะนำไปสู่การพัฒนาสินค้าของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ตลอดห่วงโซ่การผลิตได้อย่างครบวงจร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรสมาชิก รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ให้เป็นที่พึ่งของมวลสมาชิกได้อย่างยั่งยืน
ข่าวจากสื่อออนไลน์