สื่อความรู้เรื่อง Gender
ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และความเสมอภาคระหว่างเพศ
- การเคลื่อนไหวเพื่อความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในรอบ 50-60 ปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นคลื่น 3 ลูก คือ คลื่นลูกที่ 1 ยุคของความเสมอภาค (ทศวรรษ 1970) คลื่นลูกที่ 2 ยุคของความแตกต่าง (ทศวรรษ 1980) และคลื่นลูกที่ 3 ยุคแห่งความหลากหลาย (ทศวรรษ 1990) โดยจะเข้าใจได้ดีก็ด้วยการอาศัยทฤษฎีนิติสตรีศาสตร์ (Feminist Legal Theory/Jurisprudence) ในการอธิบาย
- ความเสมอภาค และการไม่เลือกปฏิบัติเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติจึงมีความเชื่อในสิทธิ เสรีภาพ และ อิสรภาพของมนุษยชนพื้นฐาน เกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษย์ และสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยืนยันหลักการ การห้าม การกีดกัน เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะด้วยเหตุทาง เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง แหล่งกำเนิดหรือสถานะอื่นๆ
- ความเสมอภาคทางเพศไม่ได้หมายถึงการที่ผู้หญิงและผู้ชายเหมือนกัน แต่หมายถึง การมีศักยภาพในการใช้โอกาสในสังคมและชีวิตที่เท่าเทียมกัน ฉะนั้นการได้มาซึ่งความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งสถานะ สิทธิ และความรับผิดชอบที่เท่าเทียมกันของหญิงและชาย ต้องการการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เพื่อปฏิเสธการเลือกปฏิบัติอย่างชัดแจ้งโดยตรง (เช่น การรับสมัครงานเฉพาะเพศชาย) และการเลือกปฏิบัติโดยอ้อม (เช่น การรับสมัครงานเฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ซ่อนไว้ด้วยการให้โอกาสแก่ฝ่ายชายมิให้แก่ฝ่ายหญิง) โดยใช้มาตรการเพื่อลดข้อเสียเปรียบของผู้หญิงที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบถึงการขจัดอุปสรรคที่ซ่อนเร้น และมุ่งถึงการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงแต่สนใจความเท่าเทียมทางโอกาส รวมทั้งต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติเชิงสถาบัน และความสัมพันธ์เชิงสังคมที่ตอกย้ำและคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำต่างๆ อีกด้วย
ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย
คำอธิบายของ Aristotle ที่มีมาตั้งแต่สมัยกลางว่าด้วยความเสมอภาค คือการปฏิบัติต่อสิ่งที่เหมือนกันให้เหมือนกันและปฏิบัติต่อสิ่งที่ไม่เหมือนกันให้แตกต่างกัน
เมื่อนำหลักดังกล่าวมาปรับใช้กับกรณีของ “ชาย” และ “หญิง” ก็เกิดข้อถกเถียงหลักว่า ธรรมชาติสร้างให้หญิงชายแตกต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิบัติต่อคนทั้งสองเพศให้เหมือนกัน ฝ่ายสตรีนิยมมีคำอธิบายต่อข้อถกเถียงอย่างละเอียดในรูปของการเคลื่อนไหวที่แบ่งเป็นคลื่น 3 ลูก
คลื่นลูกที่ 1 ยุคของความเสมอภาค (ทศวรรษ 1970)
คลื่นลูกที่ 2 ยุคของความแตกต่าง (ทศวรรษ 1980)
คลื่นลูกที่ 3 ยุคแห่งความหลากหลาย (ทศวรรษ 1990)
ในช่วงหลายทศวรรษของคลื่นทั้ง 3 ลูก นี้ นักกฎหมายที่สนใจทฤษฎีสตรีศึกษาได้นำทฤษฎีดังกล่าวมาพินิจพิเคราะห์เนื้อหา ระบบ และพัฒนาการของกฎหมาย และสร้างแนวคิด/ทฤษฎีนิติสตรีศาสตร์ (Feminist Legal Theory/Jurisprudence) ซึ่งมีรายละเอียดมาก แต่เนื่องจากข้อจำกัดความยาวของหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผู้เขียนต้องตัดตอนมาเฉพาะสาระสำคัญ และจะนำเนื้อหาฉบับเต็มของแนวคิด/ทฤษฎีนิติสตรีศาสตร์ (Feminist Legal Theory/Jurisprudence) ไปตีพิมพ์ในหนังสือ “รัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของเด็กและเยาวชน” ซึ่งจะตีพิมพ์เล่มต่อไป โดยจะอธิบายให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิของเด็กและเยาวชนและสิทธิเสรีภาพของสตรีและประเด็นเชื่อมโยงต่างๆ
เอกสารหลักขององค์การสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นกฎบัตรของการก่อตั้งสหประชาชาติ หรือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จะไม่มีการให้คำจำกัดความของคำว่าความเสมอภาค (Equality) ไว้โดยตรง แต่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ในลักษณะความคิดรวบยอดว่า คือความเชื่อในสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพของมนุษยชนพื้นฐาน ความเชื่อในเกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษย์ และสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยืนยันหลักการ การห้าม การกีดกัน เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะด้วยเหตุทาง เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง แหล่งกำเนิดหรือสถานะอื่นๆ จึงสรุปได้ว่าความเสมอภาค และการไม่เลือกปฏิบัติเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิมนุษยชน ที่ปรากฏในตราสารของสหประชาชาติทุกฉบับและรัฐภาคีที่ยอมรับหลักการขององค์การสหประชาชาติมีหน้าที่ในด้านต่างๆ ที่จะให้บรรลุเป้าหมายนี้
แม้องค์การสหประชาชาติจะไม่ระบุความหมายของคำว่า “ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย” หรือ “ความเสมอภาคระหว่างเพศ” แต่องค์การสหประชาชาติจะอธิบายความหมายของ “การเลือกปฏิบัติต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้อย่างชัดเจน” แทน
ตัวอย่างเช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (The Convention on the Elimination on All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) ได้ให้ความหมายของการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (discrimination against women) ว่า หมายถึงการแบ่งแยก (distinction) การกีดกัน (exclusion) หรือการจำกัด (restriction) เพราะเหตุแห่งเพศ ซึ่งมีผลหรือความมุ่งประสงค์ที่จะทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียการยอมรับ การได้อุปโภค หรือใช้สิทธิสตรีโดยไม่เลือกสถานภาพด้านการสมรส บนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรี ของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พลเมืองหรือด้านอื่นๆ จึงทำให้ต้องตีความข้อความแต่ละส่วนของอนุสัญญาฉบับนี้ และสรุปว่า
- สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่อนุสัญญาให้ความคุ้มครอง เป็นการคุ้มครองอย่างรอบด้านทั้งสิทธิเสรีภาพด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พลเมือง หรือด้านอื่นๆ และต้องเป็นสิทธิเสรีภาพที่เสมอภาคของบุรุษและสตรี
- ไม่ว่าหญิงจะมีสถานภาพด้านการสมรสเช่นไร ย่อมได้รับความคุ้มครองเสมอกัน
- การแบ่งแยก (distinction) การกีดกัน (exclusion) หรือการจำกัด (restriction) เพราะเหตุแห่งเพศ อาจจะเกิดขึ้นโดยเจตนา (มุ่งประสงค์) หรือไม่ได้มุ่งประสงค์แต่ผลที่เกิดขึ้นเห็นได้ว่าเกิดการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะเหตุแห่งเพศ
การเลือกปฏิบัติโดยการมุ่งประสงค์ อาจเรียกอีกประการหนึ่งว่า การเลือกปฏิบัติอย่างชัดแจ้งโดยตรง (Direct Discrimination) เช่น มีประกาศหรือกฎหมาย จำกัดสิทธิไม่ให้เพศหญิงมีสิทธิบางอย่าง เช่น ห้ามมิให้ผู้หญิงเข้ารับการศึกษา หรือ เข้าทำงานในบางตำแหน่ง
การเลือกปฏิบัติอีกประการหนึ่ง ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติโดยมีข้อความที่ชัดแจ้ง แต่เกิดผลกระทบต่อเพศหญิงอย่างแน่นอน กรณีที่ยกตัวอย่างในตำราต่างประเทศ คือ กรณีที่มีระเบียบของหน่วยงานรัฐที่ระบุว่า “หน่วยงานจะรับเฉพาะผู้ที่เคยเป็นทหารผ่านศึกเท่านั้นเข้าเป็นลูกจ้างประจำ” ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ที่จะได้รับการจ้างงานให้เป็นลูกจ้างประจำจะมีแต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น เพราะสมัยก่อนมีเฉพาะผู้ชายที่เคยเป็นทหารผ่านศึก ดังนั้นระเบียบดังกล่าวแม้ไม่มีข้อความใดที่พูดถึงเพศ แต่ด้วยผลของข้อเท็จจริงที่ในสมัยนั้นจะมีแต่เฉพาะเพศชายเท่านั้นที่เป็นทหารผ่านศึก ดังนั้นเพศชายจะเป็นเพศที่ได้รับประโยชน์ แม้ระเบียบอาจไม่มีเจตนากีดกันเพศหญิง แต่เพศหญิงได้รับผลโดยปริยาย การเลือกปฏิบัติประเภทนี้เรียกว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยทางอ้อม (Indirect Discrimination)
ตัวอย่างของการเลือกปฏิบัติโดยอ้อมของประเทศไทย ที่ผู้เขียนเคยรับฟังมาและพอจะยกตัวอย่างประกอบได้บ้าง คือกรณีการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ระเบียบข้อหนึ่งกำหนดว่า จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์และไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ปรากฏว่ามีผู้ชายสมัครเข้ารับตำแหน่งเป็นจำนวนมากกว่าเพศหญิง เพราะผู้ชายซึ่งจบการศึกษาสาขานี้ ส่วนใหญ่นิยมประกอบอาชีพทนายความ ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ ในขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่จะรับราชการ หรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ
คุณูปการที่สำคัญอีกประการหนึ่งของทฤษฎีสตรีนิยมโดยเฉพาะทฤษฎีสตรีนิยมทางกฎหมาย คือการแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ความเสมอภาคในรูปแบบ (Formal Equality) และความเสมอภาคด้านเนื้อหา (Substantive Equality) โดยชี้ให้เห็นว่า เราไม่ควรพอใจที่จะเห็นแต่ความเสมอภาคในรูปแบบ ซึ่งเรามักจะเห็นโดยทั่วไป แต่เราต้องพินิจพิเคราะห์ให้เห็นความเสมอภาคเชิงเนื้อหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังด้วย นี่คือคุณค่าของทฤษฎีนิติสตรีนิยมที่วิเคราะห์วิพากษ์ให้เห็นบทบาทที่แท้จริงของกฎหมาย
ความเสมอภาคระหว่างเพศ (ทางเพศ)
มีความพยายามที่จะอธิบายความหมายของคำว่า “ความเสมอภาคทางเพศ” ซึ่งผู้เขียนขอยกมาประกอบดังนี้
“ความเสมอภาคทางเพศ” หมายถึง การที่ผู้หญิงและผู้ชายใช้ประโยชน์จากโอกาส ทรัพยากร และผลตอบแทนจากการพัฒนาที่มีคุณค่าทางสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคทางเพศไม่ได้หมายถึงการที่ผู้หญิงและผู้ชายเหมือนกัน แต่หมายถึง การมีศักยภาพในการใช้โอกาสในสังคมและชีวิตที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นการปฏิบัติต่อผู้หญิงและผู้ชายอย่างเท่าเทียมกัน (ความจริงน่าจะใช้คำว่า “เหมือนกัน” แทนคำว่า “เท่าเทียมกัน”) นั้นอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความเสมอภาคทางเพศได้ เพราะการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน (เหมือนกัน) ในบริบทของความไม่เสมอภาคอาจเป็นการคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำหรือเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้หยั่งรากฝังลึกมากขึ้น
การได้มาซึ่งความเสมอภาคทางเพศก็คือ การได้มาซึ่ง สถานะ สิทธิ และความรับผิดชอบที่เท่าเทียมกันของหญิงและชาย การเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบจึงหมายถึงระบบที่ทำให้ผู้ชายอยู่ในสถานะที่สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสต่างๆ ได้ดีกว่าผู้หญิง ดังนั้นในการพิจารณามาตรการเพื่อลดข้อเสียเปรียบของผู้หญิงจึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบถึงอุปสรรคซ่อนเร้นที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม โดยมุ่งในการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ความเท่าเทียมทางโอกาส
ความเป็นธรรมทางเพศ (gender equity) จากหนังสือ “มาตรฐานชี้วัดความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย” เป็นกระบวนการให้ความยุติธรรมต่อผู้หญิงและผู้ชายกระทำได้โดยมีมาตรการเพื่อชดเชยข้อเสียเปรียบทางประวัติศาสตร์และสังคมที่มีผลให้ผู้หญิงและผู้ชายไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกัน ความเป็นธรรมทางเพศเป็นหนทางนำไปสู่ความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติเชิงสถาบันและความสัมพันธ์เชิงสังคมที่ตอกย้ำและคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำต่างๆ
ความหมายของ “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. 2558
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใด อันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือ จำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด
ที่มา : ศาสตราจารย์มาลี พฤกษ์พงศาวลี, “ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และความเสมอภาคระหว่างเพศ,” ใน ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และความเสมอภาคระหว่างเพศในรัฐธรรมนูญไทย (พุทธศักราช 2475-2560) (กรุงเทพฯ: สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565), น. 83-86.
ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender Equality)