Accessibility Tools
1) ด้านการส่งเสริมศิลปาชีพ
ปัจจุบันคือมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลากหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ และการจักสานสถาบันสิริกิติ์ สานต่องานศิลปาชีพเผยแพร่ผลงานประณีตศิลป์
กว่า 60 ปี ในรัชสมัยที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาพสกนิกรไทย โดยทั่วถ้วนถึงพระวิริยะอุตสาหะและความอดทนที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการตลอดมา โดยเฉพาะงานส่งเสริมศิลปาชีพ ยังผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตราบจนปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ได้พัฒนาการดำเนินงานด้วยความก้าวหน้า ผลงานที่สร้างขึ้นล้วนเป็นประณีตศิลป์ชั้นสูง มีความวิจิตงดงามยิ่งปัจจุบันโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา ยกสถานะขึ้นเป็น “สถาบันสิริกิติ์” ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2553 เป็นต้นมา จากโรงฝึกผลงานอันวิจิตรของลูกหลานชาวนาชาวไร่ ได้อวดโฉมโชว์ความงดงามให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาแล้วมากมายผ่านการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ “ศิลป์แผ่นดิน” ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่แบ่งการจัดแสดงเป็นสัดส่วนเริ่มที่ชั้นล่างสุดกับห้อง “ปีกแมลงทับ” หรือห้องที่แสดงการตกแต่งแผ่นไม้แกะสลัก ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยและถนิมพิมพาภรณ์ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีงานปักเส้นไหมโบราณขนาดใหญ่ งานคร่ำ งานสานย่านลิเภา และงานเครื่องประดับนานาชนิด รวมถึงจำลอง พระที่นั่งพุดตานจำลองคร่ำทอง จำลองแบบมาจากพระที่นั่งพุดตาน จำหลักไม้ ในพระบรมมหาราชวังได้อย่างเสมือนจริง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นฝีมือชาวนาชาวไร่ ที่ผ่านการฝึกฝนจนกลายเป็น ช่างฝีมือด้านศิลปะไทยอันยอดเยี่ยมที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเห็นคุณค่าในฝีมือให้ร่วมกันสืบสานงานประณีตศิลป์ให้อยู่กับแผ่นดินไทยตลอดไป
2) ด้านการส่งเสริมอนุรักษ์ธรรมชาติ
โครงการ “บ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าและการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อช่วยให้พสกนิกรชาวไทยมีน้ำเพียงพอต่อการดำรงชีพและการทำการเกษตร ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น “บ้านเล็กในป่าใหญ่” โครงการพระราชดำริฯ
“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่แสดงถึงพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะทรงงานด้านการอนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ เพื่อสนับสนุนการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อช่วยให้พสกนิกรชาวไทยมีน้ำเพียงพอต่อการดำรงชีพและการทำการเกษตร โครงการตามพระราชดำริอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใส่พระราชหฤทัยด้านการอนุรักษ์ป่าไม้และทรงห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่เป็นอย่างมากคือ “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่” ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นที่แรกที่บ้านห้วยไม้หก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2534 พร้อมพระราชทานพระราชดำริแนวทางการอนุรักษ์ไว้ว่า ให้คงมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ให้รักษาป่าที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ ไม่ให้ถูกทำลายต่อไป จัดให้มีการฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายไป โดยให้มีทั้งไม้ป่าธรรมชาติและไม้ใช้สอยพื้นที่ทำกินของราษฎร ให้การช่วยเหลือด้านการเกษตร สามารถทำกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านห้วยไม้หก ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้โดยไม่เกิดการทำลาย ดังพระราชประสงค์ หลังจากนั้นจึงมีการต่อยอด จัดตั้งโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ อีกหลายพื้นที่ เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านอุดมทรัพย์ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ,โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านหนองห้า อ.เชียงคำ จ.พะเยา, โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริดอยฟ้าห่มปก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ฯลฯ
3) ด้านหัตถศิลป์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดผ้าทอพื้นเมืองมาโดยตลอดและมีพระราชดำริว่า ควรจะส่งเสริมให้ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้เป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวนอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม“ศิลปาชีพ” ราชินีแห่งไหมไทย ทรงเป็นต้นแบบอนุรักษ์ผ้าไทยให้โด่งดังไกล
เรื่องของ ‘ผ้าไหมไทย’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ภูมิปัญญาพื้นบ้าน งานศิลป์ชิ้นเอกที่ถูกละเลยนี้ ได้ถูกหยิบมาปัดฝุ่น ให้ทรงคุณค่ามาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เมื่อครั้งเสด็จฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ให้ส่งเสริมการทอผ้าไหมไทยขึ้น ก่อเกิดเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จนถึงปัจจุบันนอกจากนี้ ยังทรงเผยแพร่ความงดงามของผ้าไหมและหัตถกรรมไทยสู่สายตาชาวโลก ผืนผ้าจากภูมิปัญญาชาวบ้านกลายเป็นฉลองพระองค์อันวิจิตร โดยใน พ.ศ. 2505 ทรงได้รับเลือกให้เป็นสตรีที่แต่งพระองค์งามที่สุดในโลกผู้หนึ่ง ในจำนวนสุภาพสตรีของโลกทั้งหมด 10 คน จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีของโลก ทรงนำความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างและสวมใส่อย่างแพร่หลาย เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระปรีชาญาณ และกำลังพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทำให้ผ้าไทยกลับคืนสู่สังคมไทย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงร่วมมือกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อย 2 วัน ต่อสัปดาห์ จากนโยบายดังกล่าว ได้สร้างกระแสการใส่ผ้าไทยให้คึกคักมากยิ่งขึ้น มีการประกวดผ้าทอของแต่ละจังหวัด มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย รวมทั้งจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทยที่นำมาตัดเย็บ ให้เข้ากับยุคสมัยให้ผ้าไทยใส่แล้วเก๋ในชีวิตประจำวัน
4) ด้านการเกษตรและชลประทาน
ทรงเน้นเรื่องการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือความแปรปรวนทางการตลาด แต่เกษตรกรควรจะมีรายได้จากด้านอื่นนอกเหนือไปจากการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง
สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ระหว่างปี 2546 – 2548 ความสรุปได้ดังนี้
1. ฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพป่าพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยใช้ไม้ในท้องถิ่นและขยายพันธุ์พืชหายากหรือใกล้สูญพันธุ์
2. พัฒนาคุณภาพชีวิตการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภคส่งเสริมการทำการเกษตรให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรในพื้นที่
3. ศึกษาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากป่าให้เป็นเศรษฐกิจเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้สำหรับในปีงบประมาณ 2555 สำนักงาน กปร.ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการสนองพระราชดำริให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น
1) สถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตรป่าไม้ สิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านแปกแซม อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ผลประโยชนืที่เกิดขึ้น
ระบบนิเวศของป่าต้นน้ำลำธารในพื้นที่สถานีฯได้รับการฟื้นฟู จำนวน 250 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ทั้งด้านคุณภาพ และปริมาณน้ำจากการจัดทำฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสานฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร และฝายต้นน้ำแบบถาวร ราษฎรในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเป็นแรงงานในสถานีฯและจากการท่องเที่ยว นอกจากนี้ราษฎรยังได้รับการถ่ายทอดความรู้เทคนิค วิทยาการ ด้านการเกษตรและด้านป่าไม้ ทำให้ราษฎรบ้านแปกแซม ซึ่งอยู่ในพื้นที่สถานีฯจำนวน 195 ครัวเรือน 1,017 คน และหมู่บ้านบริวารได้แก่หมู่บ้านหินแตว จำนวน 34 ครัวเรือน เกิดจิตสำนึกที่จะช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและให้ความร่วมมือกับทางราชการในการปกป้องรักษาป่ารักษาผืนแผ่นดินไทยให้มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย
2) สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านห้วยแม่เกี๋ยงอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ป่าต้นน้ำลำธาร จำนวน 300 ไร่ ในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีฯได้รับการฟื้นฟู ให้กลับคืนความสมบูรณ์ ชุมชนมีแหล่งต้นน้ำที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอสำหรับการอุปโภค และจากงานขยายผลการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมก่อให้เกิดประโยชน์กับแปลงนาข้าวของราษฎรส่งผลให้ราษฎร จำนวน 27 ครัวเรือน 153 คน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากรายได้ ภาคเกษตรกรรมและจากการจ้างงานของทางโครงการฯอันจะนำไปสู่การรักหวงแหน และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
หมายเหตุ อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) : คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สีบัวทอง
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จากการที่จังหวัดอ่างทองได้ประสบปัญหาอุทกภัย ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2549 พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานให้ทางจังหวัดอ่างทอง จัดทำโครงการสร้างศาลาเอนกประสงค์ และฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริขึ้น เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและไร้ที่อยู่อาศัย ได้พักอาศัยขณะน้ำท่วม พร้อมจัดหาที่ดินซึ่งเป็นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง เพื่อใช้สำหรับทำเป็นฟาร์มตัวอย่าง เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของประชาชนในจังหวัดอ่างทองอีกด้วย ซึ่งทางจังหวัดได้จัดหาพื้นที่ตามพระราชดำริได้ที่บริเวณหนองระหารจีน หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ประมาณ36 ไร่ เป็นพื้นที่ดิน 23 ไร่ พื้นที่แหล่งน้ำ 13 ไร่ ใช้สำหรับการทำการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง
“ฟาร์มตัวอย่าง” ตามพระราชดำริ ศูนย์เรียนรู้การเกษตรครบวงจร หล่อเลี้ยงชีวิตเกษตรกรไทย
ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน กิจกรรมฟาร์มตัวอย่างตามราชดำริถือกำเนิดขึ้น ณ บ้านขุนแตะ หมู่ 5 ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ จากการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ไม่มีงานทำหลังจากบำบัดและเลิกเสพยาเสพติด โดยเริ่มแรกเป็นการดำเนินงานเกี่ยวกับการสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกถนน แหล่งน้ำสนับสนุนกิจกรรมภายในโครงการฯ เช่น ปลูกพืชผัก พันธุ์ไม้ผลชนิดต่าง ๆ การเลี้ยงปศุสัตว์ เป็ด ไก่ หมู และเลี้ยงปลา เป็นต้น จนโครงการได้พัฒนาต่อเนื่องกระจายไปทั่วประเทศด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้มีแรงงานตกงานถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก และต้องกลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาทำให้ขาดรายได้จุนเจือครอบครัว ราษฎรประสบความทุกข์ยากแสนเข็ญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้อาณาราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำที่ดินในโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ทั้ง 30 ฟาร์มจากจำนวน 61 ฟาร์ม ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ มาใช้สนับสนุนการจ้างงานภายใต้ “โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19” เพื่อให้ประชาชนมีรายได้มาหล่อเลี้ยงครอบครัวในช่วงที่เกิดสถานการณ์ยากลำบากในการใช้ชีวิต
ชลประทาน
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านแม่สะกึด ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อทอดพระเนตรโครงการฝายห้วย แม่สะกึด ตามพระราชดำริ ซึ่งกรมชลประทานกำลังดำเนินการสำรวจและพิจารณาเกี่ยวกับสถานที่สร้างฝายเก็บกักน้ำแบบประหยัด เพื่อส่งน้ำไปยังบ่อพัก แล้วจึงจ่ายน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปายในเขตตำบลผาบ่อง เป็นเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ได้ตลอดปี จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังศูนย์ศิลปาชีพของโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านห้วยเดื่อ ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้ เพื่อเพิ่มพูนรายได้แก่ราษฎรในระบบกลุ่มและสหกรณ์ ตลอดจนส่งเสริมการทำวัตถุก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการสุขาภิบาล นอกจากนั้น ยังเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มศิลปาชีพอีกด้วย
ในโอกาสนี้ ได้ทอดพระเนตรกิจกรรมของสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ ได้แก่ การปั้นโอ่งซีเมนต์ การทำคอนกรีตบล๊อก และการทำอุปกรณ์สุขาภิบาลต่าง ๆ ซึ่งเมื่อสมาชิกฯ สำเร็จหลักสูตรการอบรมแล้ว จะได้รับวุฒิบัตรและอุปกรณ์การผลิตเป็นส่วนรวม ต่อจากนั้น สมาชิกแต่ละหมู่บ้านจะจัดตั้งกลุ่มเพื่อดำเนินการผลิตเพื่อใช้สอยและจำหน่ายเป็นรายได้พิเศษ สำหรับศูนย์ฝึก ฯ จะเป็นแหล่งผลิตกลาง ส่วนรายได้ของสมาชิกนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ซึ่งสมาชิกที่มีความสามารถสูงก็จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นวิทยากรต่อไป สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ประทับแรมชั่วคราวของศูนย์พัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ บ้านท่าโป่งแดง ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนิน ไปทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสายแล (ห้วยต่อ) ตำบลปางหมู โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเดื่อ ตำบลผาบ่อง และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจองจาย ตำบลปางหมู ตามลำดับ ซึ่งโครงการดังกล่าว กรมชลประทานจะดำเนินการสนองพระราชดำริ ในการจัดหาน้ำเพื่อการชลประทานและการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรทางฝั่งขวาของแม่น้ำปายได้ตลอดทั้งปี ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินกลับเรือนรับรองที่ประทับ ณ ศูนย์พัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ
5) ด้านการสาธารณสุข
ทรงริเริ่มจัดตั้ง “มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ในกรณีที่ทรงพบราษฎรเจ็บป่วยก็จะทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทรงอุปถัมภ์องค์กรการกุศล สมาคม มูลนิธิต่างๆ เป็นจำนวนมาก
น้ำพระทัยสมเด็จพระพันปีหลวง ชุบชีวิตยามวิกฤติสาธารณสุข
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรอย่างใกล้ชิดเสมอมา โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพอนามัยตามพื้นที่ชนบทห่างไกล ทรงตระหนักว่าการมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และสามารถทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ พระองค์จึงได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านสาธารณสุขเป็นจำนวนมาก อาทิ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดคณะแพทย์ตามเสด็จในต่างจังหวัด นำมาสู่หน่วยแพทย์พระราชทานจนทุกวันนี้ทรงสานต่อโครงการหมอหมู่บ้านของในหลวง รัชกาลที่ 9 คัดชาวบ้านที่สมัครใจมาอบรม เพื่อนำความรู้กลับไปช่วยเหลือคนเจ็บป่วยในหมู่บ้าน โดยให้ชาวบ้านรู้จักใช้ยาและดูแลรักษาอนามัยเบื้องต้น ขณะที่คนไข้ป่วยหนักยากจนทรงไม่ทอดทิ้งรับไว้เป็นคนไข้ ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทุกชีวิตของราษฎรมีความหมายใต้ร่มพระบารมีสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่พสกนิกร 76 จังหวัด เผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พสกนิกรต่างถวายพระราชสมัญญาว่า “พระแม่เจ้าของชาติ” พระราชทานพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์และชุดอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบอากาศบริสุทธิ์ PAPR เพื่อใช้ในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และทุกเหล่าทัพ ช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด -19
6) ด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชทานชุดอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบอากาศบริสุทธิ์ PAPR (Powered Air Purifying Respirator) เพื่อใช้ในห้องผ่าตัดให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนต่อไป
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบัน สมเด็จพระพันปีหลวง ยังทรงห่วงใยปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรอย่างใกล้ชิดเสมอมา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ อาทิ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และพระราชทานชุดอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบอากาศบริสุทธิ์ PAPR เพื่อใช้ในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลประจำจังหวัด ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 76 จังหวัด จังหวัดละ 6 ชุด มูลค่า 20,191,428 บาท เพื่อปกป้องคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องได้รับการผ่าตัดการตรวจหัตถการพิเศษ และการคลอด ให้มีความปลอดภัย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ยังความปลื้มปีติแก่ผู้ป่วย แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
12 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
คำถามที่พบบ่อย|ช่องทางร้องเรียน|รางวัลที่กรมได้รับ|สำรวจความพึงพอใจ|แผนผังเว็บไซต์
connect us facebook youtube ก Line Official กรมส่งเสริมสหกรณ์
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2564 โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์
Copy Right © 2021 Cooperative Promotion Department. All rights Reserved
12 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
คำถามที่พบบ่อย | ช่องทางร้องเรียน | รางวัลที่กรมได้รับ | สำรวจความพึงพอใจ | แผนผังเว็บไซต์
Line Official กรมส่งเสริมสหกรณ์
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2564 โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์
Copy Right © 2021 Cooperative Promotion Department. All rights Reserved
จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์
เริ่มนับวันที่ 1 ต.ค.2561
© 2021 Cooperative Promotion Department. All rights Reserved