พระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
1) ด้านการส่งเสริมศิลปาชีพ
ปัจจุบันคือมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลากหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ และการจักสานสถาบันสิริกิติ์ สานต่องานศิลปาชีพเผยแพร่ผลงานประณีตศิลป์
กว่า 60 ปี ในรัชสมัยที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาพสกนิกรไทย โดยทั่วถ้วนถึงพระวิริยะอุตสาหะและความอดทนที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการตลอดมา โดยเฉพาะงานส่งเสริมศิลปาชีพ ยังผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตราบจนปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ได้พัฒนาการดำเนินงานด้วยความก้าวหน้า ผลงานที่สร้างขึ้นล้วนเป็นประณีตศิลป์ชั้นสูง มีความวิจิตงดงามยิ่งปัจจุบันโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา ยกสถานะขึ้นเป็น “สถาบันสิริกิติ์” ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2553 เป็นต้นมา จากโรงฝึกผลงานอันวิจิตรของลูกหลานชาวนาชาวไร่ ได้อวดโฉมโชว์ความงดงามให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาแล้วมากมายผ่านการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ “ศิลป์แผ่นดิน” ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่แบ่งการจัดแสดงเป็นสัดส่วนเริ่มที่ชั้นล่างสุดกับห้อง “ปีกแมลงทับ” หรือห้องที่แสดงการตกแต่งแผ่นไม้แกะสลัก ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยและถนิมพิมพาภรณ์ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีงานปักเส้นไหมโบราณขนาดใหญ่ งานคร่ำ งานสานย่านลิเภา และงานเครื่องประดับนานาชนิด รวมถึงจำลอง พระที่นั่งพุดตานจำลองคร่ำทอง จำลองแบบมาจากพระที่นั่งพุดตาน จำหลักไม้ ในพระบรมมหาราชวังได้อย่างเสมือนจริง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นฝีมือชาวนาชาวไร่ ที่ผ่านการฝึกฝนจนกลายเป็น ช่างฝีมือด้านศิลปะไทยอันยอดเยี่ยมที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเห็นคุณค่าในฝีมือให้ร่วมกันสืบสานงานประณีตศิลป์ให้อยู่กับแผ่นดินไทยตลอดไป
2) ด้านการส่งเสริมอนุรักษ์ธรรมชาติ
โครงการ “บ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าและการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อช่วยให้พสกนิกรชาวไทยมีน้ำเพียงพอต่อการดำรงชีพและการทำการเกษตร ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น “บ้านเล็กในป่าใหญ่” โครงการพระราชดำริฯ
“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่แสดงถึงพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะทรงงานด้านการอนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ เพื่อสนับสนุนการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อช่วยให้พสกนิกรชาวไทยมีน้ำเพียงพอต่อการดำรงชีพและการทำการเกษตร โครงการตามพระราชดำริอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใส่พระราชหฤทัยด้านการอนุรักษ์ป่าไม้และทรงห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่เป็นอย่างมากคือ “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่” ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นที่แรกที่บ้านห้วยไม้หก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2534 พร้อมพระราชทานพระราชดำริแนวทางการอนุรักษ์ไว้ว่า ให้คงมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ให้รักษาป่าที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ ไม่ให้ถูกทำลายต่อไป จัดให้มีการฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายไป โดยให้มีทั้งไม้ป่าธรรมชาติและไม้ใช้สอยพื้นที่ทำกินของราษฎร ให้การช่วยเหลือด้านการเกษตร สามารถทำกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านห้วยไม้หก ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้โดยไม่เกิดการทำลาย ดังพระราชประสงค์ หลังจากนั้นจึงมีการต่อยอด จัดตั้งโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ อีกหลายพื้นที่ เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านอุดมทรัพย์ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ,โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านหนองห้า อ.เชียงคำ จ.พะเยา, โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริดอยฟ้าห่มปก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ฯลฯ
3) ด้านหัตถศิลป์
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดผ้าทอพื้นเมืองมาโดยตลอดและมีพระราชดำริว่า ควรจะส่งเสริมให้ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้เป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวนอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม“ศิลปาชีพ” ราชินีแห่งไหมไทย ทรงเป็นต้นแบบอนุรักษ์ผ้าไทยให้โด่งดังไกล
เรื่องของ ‘ผ้าไหมไทย’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ภูมิปัญญาพื้นบ้าน งานศิลป์ชิ้นเอกที่ถูกละเลยนี้ ได้ถูกหยิบมาปัดฝุ่น ให้ทรงคุณค่ามาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เมื่อครั้งเสด็จฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ให้ส่งเสริมการทอผ้าไหมไทยขึ้น ก่อเกิดเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จนถึงปัจจุบันนอกจากนี้ ยังทรงเผยแพร่ความงดงามของผ้าไหมและหัตถกรรมไทยสู่สายตาชาวโลก ผืนผ้าจากภูมิปัญญาชาวบ้านกลายเป็นฉลองพระองค์อันวิจิตร โดยใน พ.ศ. 2505 ทรงได้รับเลือกให้เป็นสตรีที่แต่งพระองค์งามที่สุดในโลกผู้หนึ่ง ในจำนวนสุภาพสตรีของโลกทั้งหมด 10 คน จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีของโลก ทรงนำความงดงามของผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างและสวมใส่อย่างแพร่หลาย เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระปรีชาญาณ และกำลังพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทำให้ผ้าไทยกลับคืนสู่สังคมไทย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จึงร่วมมือกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อย 2 วัน ต่อสัปดาห์ จากนโยบายดังกล่าว ได้สร้างกระแสการใส่ผ้าไทยให้คึกคักมากยิ่งขึ้น มีการประกวดผ้าทอของแต่ละจังหวัด มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย รวมทั้งจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทยที่นำมาตัดเย็บ ให้เข้ากับยุคสมัยให้ผ้าไทยใส่แล้วเก๋ในชีวิตประจำวัน
4) ด้านการเกษตรและชลประทาน
ทรงเน้นเรื่องการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือความแปรปรวนทางการตลาด แต่เกษตรกรควรจะมีรายได้จากด้านอื่นนอกเหนือไปจากการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง
สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ระหว่างปี 2546 – 2548 ความสรุปได้ดังนี้
1. ฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพป่าพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยใช้ไม้ในท้องถิ่นและขยายพันธุ์พืชหายากหรือใกล้สูญพันธุ์
2. พัฒนาคุณภาพชีวิตการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภคส่งเสริมการทำการเกษตรให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรในพื้นที่
3. ศึกษาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากป่าให้เป็นเศรษฐกิจเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้สำหรับในปีงบประมาณ 2555 สำนักงาน กปร.ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการสนองพระราชดำริให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น
1) สถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตรป่าไม้ สิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านแปกแซม อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ผลประโยชนืที่เกิดขึ้น
ระบบนิเวศของป่าต้นน้ำลำธารในพื้นที่สถานีฯได้รับการฟื้นฟู จำนวน 250 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์ทั้งด้านคุณภาพ และปริมาณน้ำจากการจัดทำฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสานฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร และฝายต้นน้ำแบบถาวร ราษฎรในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเป็นแรงงานในสถานีฯและจากการท่องเที่ยว นอกจากนี้ราษฎรยังได้รับการถ่ายทอดความรู้เทคนิค วิทยาการ ด้านการเกษตรและด้านป่าไม้ ทำให้ราษฎรบ้านแปกแซม ซึ่งอยู่ในพื้นที่สถานีฯจำนวน 195 ครัวเรือน 1,017 คน และหมู่บ้านบริวารได้แก่หมู่บ้านหินแตว จำนวน 34 ครัวเรือน เกิดจิตสำนึกที่จะช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและให้ความร่วมมือกับทางราชการในการปกป้องรักษาป่ารักษาผืนแผ่นดินไทยให้มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย
2) สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านห้วยแม่เกี๋ยงอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ป่าต้นน้ำลำธาร จำนวน 300 ไร่ ในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีฯได้รับการฟื้นฟู ให้กลับคืนความสมบูรณ์ ชุมชนมีแหล่งต้นน้ำที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอสำหรับการอุปโภค และจากงานขยายผลการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมก่อให้เกิดประโยชน์กับแปลงนาข้าวของราษฎรส่งผลให้ราษฎร จำนวน 27 ครัวเรือน 153 คน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากรายได้ ภาคเกษตรกรรมและจากการจ้างงานของทางโครงการฯอันจะนำไปสู่การรักหวงแหน และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
หมายเหตุ อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) : คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สีบัวทอง
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จากการที่จังหวัดอ่างทองได้ประสบปัญหาอุทกภัย ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2549 พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานให้ทางจังหวัดอ่างทอง จัดทำโครงการสร้างศาลาเอนกประสงค์ และฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริขึ้น เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและไร้ที่อยู่อาศัย ได้พักอาศัยขณะน้ำท่วม พร้อมจัดหาที่ดินซึ่งเป็นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง เพื่อใช้สำหรับทำเป็นฟาร์มตัวอย่าง เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของประชาชนในจังหวัดอ่างทองอีกด้วย ซึ่งทางจังหวัดได้จัดหาพื้นที่ตามพระราชดำริได้ที่บริเวณหนองระหารจีน หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เนื้อที่ประมาณ36 ไร่ เป็นพื้นที่ดิน 23 ไร่ พื้นที่แหล่งน้ำ 13 ไร่ ใช้สำหรับการทำการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง
“ฟาร์มตัวอย่าง” ตามพระราชดำริ ศูนย์เรียนรู้การเกษตรครบวงจร หล่อเลี้ยงชีวิตเกษตรกรไทย
ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน กิจกรรมฟาร์มตัวอย่างตามราชดำริถือกำเนิดขึ้น ณ บ้านขุนแตะ หมู่ 5 ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ จากการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ไม่มีงานทำหลังจากบำบัดและเลิกเสพยาเสพติด โดยเริ่มแรกเป็นการดำเนินงานเกี่ยวกับการสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกถนน แหล่งน้ำสนับสนุนกิจกรรมภายในโครงการฯ เช่น ปลูกพืชผัก พันธุ์ไม้ผลชนิดต่าง ๆ การเลี้ยงปศุสัตว์ เป็ด ไก่ หมู และเลี้ยงปลา เป็นต้น จนโครงการได้พัฒนาต่อเนื่องกระจายไปทั่วประเทศด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้มีแรงงานตกงานถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก และต้องกลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาทำให้ขาดรายได้จุนเจือครอบครัว ราษฎรประสบความทุกข์ยากแสนเข็ญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้อาณาราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำที่ดินในโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ทั้ง 30 ฟาร์มจากจำนวน 61 ฟาร์ม ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ มาใช้สนับสนุนการจ้างงานภายใต้ “โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19” เพื่อให้ประชาชนมีรายได้มาหล่อเลี้ยงครอบครัวในช่วงที่เกิดสถานการณ์ยากลำบากในการใช้ชีวิต
ชลประทาน
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านแม่สะกึด ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อทอดพระเนตรโครงการฝายห้วย แม่สะกึด ตามพระราชดำริ ซึ่งกรมชลประทานกำลังดำเนินการสำรวจและพิจารณาเกี่ยวกับสถานที่สร้างฝายเก็บกักน้ำแบบประหยัด เพื่อส่งน้ำไปยังบ่อพัก แล้วจึงจ่ายน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปายในเขตตำบลผาบ่อง เป็นเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ได้ตลอดปี จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังศูนย์ศิลปาชีพของโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านห้วยเดื่อ ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้ เพื่อเพิ่มพูนรายได้แก่ราษฎรในระบบกลุ่มและสหกรณ์ ตลอดจนส่งเสริมการทำวัตถุก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการสุขาภิบาล นอกจากนั้น ยังเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มศิลปาชีพอีกด้วย
ในโอกาสนี้ ได้ทอดพระเนตรกิจกรรมของสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ ได้แก่ การปั้นโอ่งซีเมนต์ การทำคอนกรีตบล๊อก และการทำอุปกรณ์สุขาภิบาลต่าง ๆ ซึ่งเมื่อสมาชิกฯ สำเร็จหลักสูตรการอบรมแล้ว จะได้รับวุฒิบัตรและอุปกรณ์การผลิตเป็นส่วนรวม ต่อจากนั้น สมาชิกแต่ละหมู่บ้านจะจัดตั้งกลุ่มเพื่อดำเนินการผลิตเพื่อใช้สอยและจำหน่ายเป็นรายได้พิเศษ สำหรับศูนย์ฝึก ฯ จะเป็นแหล่งผลิตกลาง ส่วนรายได้ของสมาชิกนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ซึ่งสมาชิกที่มีความสามารถสูงก็จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นวิทยากรต่อไป สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ประทับแรมชั่วคราวของศูนย์พัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ บ้านท่าโป่งแดง ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนิน ไปทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสายแล (ห้วยต่อ) ตำบลปางหมู โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเดื่อ ตำบลผาบ่อง และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจองจาย ตำบลปางหมู ตามลำดับ ซึ่งโครงการดังกล่าว กรมชลประทานจะดำเนินการสนองพระราชดำริ ในการจัดหาน้ำเพื่อการชลประทานและการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรทางฝั่งขวาของแม่น้ำปายได้ตลอดทั้งปี ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินกลับเรือนรับรองที่ประทับ ณ ศูนย์พัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ
5) ด้านการสาธารณสุข
ทรงริเริ่มจัดตั้ง “มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ในกรณีที่ทรงพบราษฎรเจ็บป่วยก็จะทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทรงอุปถัมภ์องค์กรการกุศล สมาคม มูลนิธิต่างๆ เป็นจำนวนมาก
น้ำพระทัยสมเด็จพระพันปีหลวง ชุบชีวิตยามวิกฤติสาธารณสุข
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรอย่างใกล้ชิดเสมอมา โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพอนามัยตามพื้นที่ชนบทห่างไกล ทรงตระหนักว่าการมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และสามารถทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ พระองค์จึงได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านสาธารณสุขเป็นจำนวนมาก อาทิ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดคณะแพทย์ตามเสด็จในต่างจังหวัด นำมาสู่หน่วยแพทย์พระราชทานจนทุกวันนี้ทรงสานต่อโครงการหมอหมู่บ้านของในหลวง รัชกาลที่ 9 คัดชาวบ้านที่สมัครใจมาอบรม เพื่อนำความรู้กลับไปช่วยเหลือคนเจ็บป่วยในหมู่บ้าน โดยให้ชาวบ้านรู้จักใช้ยาและดูแลรักษาอนามัยเบื้องต้น ขณะที่คนไข้ป่วยหนักยากจนทรงไม่ทอดทิ้งรับไว้เป็นคนไข้ ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทุกชีวิตของราษฎรมีความหมายใต้ร่มพระบารมีสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่พสกนิกร 76 จังหวัด เผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พสกนิกรต่างถวายพระราชสมัญญาว่า “พระแม่เจ้าของชาติ” พระราชทานพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์และชุดอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบอากาศบริสุทธิ์ PAPR เพื่อใช้ในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และทุกเหล่าทัพ ช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด -19
6) ด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชทานชุดอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบอากาศบริสุทธิ์ PAPR (Powered Air Purifying Respirator) เพื่อใช้ในห้องผ่าตัดให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนต่อไป
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบัน สมเด็จพระพันปีหลวง ยังทรงห่วงใยปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรอย่างใกล้ชิดเสมอมา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ อาทิ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และพระราชทานชุดอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบอากาศบริสุทธิ์ PAPR เพื่อใช้ในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลประจำจังหวัด ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 76 จังหวัด จังหวัดละ 6 ชุด มูลค่า 20,191,428 บาท เพื่อปกป้องคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องได้รับการผ่าตัดการตรวจหัตถการพิเศษ และการคลอด ให้มีความปลอดภัย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ยังความปลื้มปีติแก่ผู้ป่วย แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ต่างล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น