จากปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบที่มีมากถึง 1.4 ล้านล้านบาท ครูกว่า 80% จากทั่วประเทศ 9 แสนคน ต้องเผชิญกับภาวะหนี้สินจำนวนมหาศาล โดยเจ้าหนี้รายใหญ่สุดคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64% รองลงมา ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25%
ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้ร่วมลงนาม MOU ดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับหน่วยงานและสถาบันการเงิน รวม 12 แห่ง ซึ่งกรมฯ มีบทบาทหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ดูแล ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พร้อมสนับสนุนด้านเงินทุน ข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยี และทรัพยากรอื่น ๆ ที่เหมาะสมในการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู รวมถึงพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ และดำเนินการร่วมกับ ศธ. ในการแนะนำ ส่งเสริม พัฒนา การบริหารจัดการองค์กร และการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูด้วย
ขณะนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกว่า 70 แห่ง จากทั้งหมด 108 แห่ง เข้าร่วมปรับอัตราดอกเบี้ย โดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยจะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตั้งแต่ 0.05 - 1.0% และพบว่ามีสหกรณ์ 11 แห่ง สามารถปรับลดดอกเบี้ยให้ลงเหลือต่ำกว่า 5% โดยมีครูที่ได้รับประโยชน์ทันทีกว่า 460,000 คน ซึ่งครูมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000,000 บาท หากอัตราดอกเบี้ยลดลง 1% จะทำให้ครูมีเงินไว้ใช้จ่ายต่อปีเพิ่มขึ้นถึง 10,000 บาท
ทั้งนี้ การให้เงินกู้แก่สมาชิกครู สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจะปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้ ซึ่งในระเบียบจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการให้เงินกู้ วงเงินกู้ งวดชำระหนี้ ฯลฯ โดย กรมฯ ได้ออกคำแนะนำการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมของสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้สหกรณ์ใช้เป็นแนวทางในการให้เงินกู้แก่สมาชิก พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือในการแก้่ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิก นอกจากนี้ สมาชิกที่มีปัญหาในการชำระหนี้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ โดยในคำแนะนำจะทำให้สมาชิกได้รับทราบสิทธิและบทบาทหน้าที่ของตนในการใช้บริการเงินกู้จากสหกรณ์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สมาชิกมีข้อมูลก่อนการตัดสินใจกู้เงินจากสหกรณ์
ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในกรณีที่มีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ต้องการให้ปรับปรุงข้อบังคับเพื่อให้สมาชิกสามารถถอนหุ้นซึ่งถือว่าเป็นเงินฝากของตนเอง โดยอ้างว่าจะช่วยให้เกิดผลดีต่อระบบสหกรณ์ และจะช่วยลดต้นทุนของสหกรณ์ลงนั้น ขอชี้แจงว่า ในการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สามารถสงวนส่วนแห่งรายได้ของตนไว้ในทางอันมั่นคงและได้รับประโยชน์ตามสมควร อีกทั้งกฎหมายสหกรณ์ก็ประสงค์จะคุ้มครองทุนของสหกรณ์โดยรวมเป็นพิเศษ ซึ่งทุนของสหกรณ์เกิดจากการถือหุ้นโดยสมาชิกและสมาชิกแต่ละรายก็ได้ส่งเงินค่าหุ้นเข้าสหกรณ์เป็นประจำทุกเดือน และกฎหมายสหกรณ์ก็มิได้บัญญัติให้อำนาจแก่สหกรณ์ให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเพื่อให้สมาชิกถอนหุ้นได้